วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วรรณกรรม " อยู่กับก๋ง

ผู้แต่งคือ หยก บูรพา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙
       “อยู่กับก๋งเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนจีนที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยสมัยเริ่มแรก  ความสัมพันธ์ระหว่างคนจีนกับคนไทย  ชีวิตชาวห้องแถวในชนบท  นอกจากนั้นผู้แต่งได้พยายามสอดใส่ทัศนคติต่อชีวิต สังคม วัฒนธรรมการดำเนินชีวิตและอาชีพของคนจีนที่ออกจากแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนมาด้วยความหวังว่าอนาคตจะต้องดีกว่าอดีตและปัจจุบัน
            ชีวิตก๋งบนผืนแผ่นดินไทยเป็นชีวิตของคนธรรมดาสามัญที่จากแผ่นดินบ้านเกิดมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร  ก๋งทำงานเลี้ยงชีพตนเองและผู้อื่นที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างจริงจัง  เอื้อเฟื้อต่อเพื่อนบ้าน  เกรงกลัวและรักษากฎหมายบ้านเมืองไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ารักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและกฎแห่งกรรมตามคติความเชื่อแห่งจีนเก่า  และที่สำคัญก๋งมีความเข้าใจในความเป็นไทย  รักคนไทย  บำเพ็ญตนเยี่ยงพลเมืองดีตลอดชีวิตอันยากไร้  เทิดทูลองค์พระมหากษัตริย์ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ  ก๋งได้พยายามถ่ายทอดความสำนึกดังกล่าวให้แก่หยกหลานชายคนเดียวของก๋งและคนอื่นๆ  ตามโอกาสอันควร  ขณะเดียวกันก๋งก็สงวนสิ่งที่ดีงามอันเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของประเทศบ้านเกิดเมืองนอน เพราะก๋งเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีงามและไม่ขัดกับสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ก๋งมาอยู่  และหยกจึงเป็นตัวแทนของเด็กชาวจีนที่เกิดในเมืองไทย  เมื่อได้รับการอบรมสั่งสอนจากผู้มีคุณธรรมเช่นก๋ง  หยกจึงเป็นตัวแทนของเด็กไทยเชื้อสายจีนที่ความสำนึกอย่างแน่นแฟ้นว่าเป็นคนไทย
          “ฉันเก็บเครื่องนอนอย่างเรียบร้อยทุกครั้ง  เพราะก๋งพร่ำสอนฉันว่าสิ่งเหล่านี้มีคุณค่าต่อชีวิตของเราหมอนเป็นที่รองหัวซึ่งเป็นของสูงสุดในร่างกาย  เสื่อเป็นเครื่องรองให้เราพ้นจากความสกปรกของธุลีดิน  ผ้าห่มให้ความอบอุ่นและมุ้งกันเราให้พ้นจากการรบกวนของสัตว์ประเภทเลื้อยคลานและแมลง
          “คนที่ไม่เป็นระเบียบชีวิตจะยุ่งเหยิง  คนที่ไม่รักความสะอาดจะหาความสดชื่นแจ่มใสไม่ได้  และคนที่ไม่รักความสุจริตชีวิตจะมีมลทิน
          “ไม่ต้องอายที่เป็นคนจน  แต่ควรอายที่เป็นคนเลว  เพราะความจน ความรวยเราเลือกไม่ได้  แต่ความดีความเลวเราเลือกทำ  เลือกเว้นได้
          “เด็กห้องแถวกลางตลาดอย่างฉัน   ก็ต้องหัดทำงานได้สารพัดอย่าง  ไม่ว่างานหนักหรืองานเบา  มันเป็นความจำเป็นโดยมีความจนเป็นนายคอยชี้นิ้วบัญชา  ความดิ้นรนเป็นมือที่คอยผลักดัน ความเพียรเป็นพี่เลี้ยงคอยพยุงไม่ให้ระทดท้อ...
คนที่ร่ำรวยแล้วยังไม่ยอมหยุดนิ่งละเว้นการสะสม  แล้วคนจนๆอย่างเราจะอยู่เฉยๆได้อย่างไร...
เทพเจ้าแห่งโชคดีไม่เคยเอื้อมมือมาแตะหน้าผากอวยชัยคนเกียจคร้านเลย
          “ก๋งเพียรสอนให้ฉันยอมรับความเป็นจริงของชีวิต  มีความมั่นใจในตัวเองและเข้มแข็งต่อการบุกบั่นเพื่อความอยู่รอด  ข้อคิดพื้นๆของก๋งทำให้ฉันเข้าใจฐานะที่แท้จริงของตนเอง  ทำให้ฉันเป็นสุขได้ในความขัดสนจนยากและไม่ท้อแท้
          “คนที่เขารวยได้น่ะเพราะเขามีโอกาสและมีความสามารถไม่ใช่ดวงดีแล้วจะร่ำรวยได้  ก่อนจะสร้างตัวได้สำเร็จเขาจะต้องผ่านการทำงานหนักมาแล้วด้วย  รู้จักหาเงิน  รู้จักเก็บออม  รู้จักคิดหาช่องทางต่อทุน  ฐานะของเขาจึงเป็นปึกแผ่นขึ้นมาได้  ไม่มีใครโชคดีถึงกับนอนขี้เกียจข้างถนนแล้วเทวดาจะโยนถุงเงินลงมาให้ถึงหน้าตัก
          “เขาไม่อยากเป็นเพื่อนกับเราก็ตามใจเขา  แต่อย่าโกรธหรือเกลียดชังเขา  ในโรงเรียนและในตลาดเรายังหาเพื่อนที่จะคบเราอย่างจริงใจได้อีกมากมายขอให้เราเป็นคนดีเท่านั้น
          “ปัจจุบันและอนาคตของบางครอบครัวก็คาดคะเนได้ไม่ยากเลย    เพียงแต่มองให้ลึกลงไปในตะกร้ากับข้าวที่เขาจ่ายตลาดมาเท่านั้นก็พอจะเห็นลางได้
          “ความยากจนเป็นดาบสองคมให้เราเลือกพลิกใช้  คมหนึ่งมันสอนให้เราเจียมตัว  รู้จักประมาณตนแต่อีกคมหนึ่งของมันสั่งให้เราทะเยอทะยานหาญเหิม  สุดแต่เราจะเลือกอยู่ในอำนาจบงการของคมใด
          “ความจริงของคนๆ หนึ่งไม่ใช่ความจริงของคนทั้งหมด
          “คนที่มีวิชาติดตัวยากนักที่จะอับจน  แพ้คนยาก  และไม่เสียเปรียบใครด้วย  ถ้าไม่มีวิชาติดตัวเลยจะทำงานสูงๆ  อะไรก็ไม่ได้ต้องเป็นคนหาเช้ากินค่ำ  ติดอยู่กับดินกับทรายตลอดชีวิต  พยายามเรียนไปเถอะหยก  หมดสมองที่จะเรียนเมื่อไรค่อยหยุด
          “ฉันไม่เคยริษยาใครก็เพราะได้เรียนรู้จากก๋งว่า  คนเราเมือเกิดมาต่างสิ่งแวดล้อม  ต่างโอกาสและฐานะ  องค์ประกอบของชีวิตก็ต้องแผกกันออกไป
          “สิ่งที่เห็นเมื่อวานหรือวันนี้  พอถึงพรุ่งนี้มันก็จะเปลี่ยนไปเพียงแต่ช้าหรือเร็ว  เพียงบางส่วนหรือโดยสิ้นเชิงเท่านั้นเอง  ไม่มีใครเหนี่ยวรั้งความเปลี่ยนแปลงไว้ได้หรอก
          “เกิดเป็นคนทั้งทีต้องให้มีคนรัก  คนที่มีแต่ศัตรูหรือมีแต่คนชิงชังรังเกียจจะหาความสุขไม่ได้หรอกในชีวิตเขา  เพราะจะถูกสาปแช่งถูกปองร้ายอยู่ตลอดเวลา  ตัวเองก็มีความหวาดระแวงไม่สบายใจ  ผิดกับคนดีที่ได้รับคำยกย่องสรรเสริญซึ่งเป็นเหมือนปุ๋ยที่ทำให้ชีวิตเจริญงอกงามยิ่งๆขึ้น
          “ในตลาดของเราแห่งนี้มีชีวิต  ชีวิตที่ผกผันยิ่งกว่านิยาย  และชีวิตที่ราบเรียบ  จืดชืดเสียจนไม่มีใครจดจำนำไปเล่าสืบทอดให้ฟังต่อๆกันไปอีก  แต่มันก็เป็นชีวิตที่คนเราแต่ละคนต้องประสบพบพานอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงให้พ้นได้  จะมีก็แต่เพียงว่า  ใครจะโชคดีหรือโชคร้ายบนเวทีแห่งนิยายชีวิตเท่านั้น
 
 ลูกอีสาน เป็นการนำเอาเรื่องราว จากประสบการณ์ ที่ผู้เขียนพบเห็น ถ่ายทอดในรูปนิยาย โดยได้เขียนเป็นตอนๆ ประมาณ 36 ตอน เพื่อพิมพ์ลง ในนิตยสารฟ้าเมืองไทย ช่วงปีพ.ศ.2518-2519 ลูกอีสาน ใช้วิธีการเล่าเรื่องราว โดยผ่านเด็กชายคูน ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ ในถิ่นชนบท ของอีสาน แถบที่จัดได้ว่า เป็นถิ่นที่แห้งแล้ง แห่งหนึ่งของไทย ผู้เขียนได้เล่าถึง ขนบธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจน ความเชื่อของชาวอีสาน รวมไปถึง การบรรยาย ถึงสภาพความเป็นไป ตามธรรมชาติ ของผู้คน และสภาพแวดล้อม เช่น การเกี้ยวพาราสีกัน ของทิดจุ่น และพี่คำกอง จนท้ายที่สุด ก็ได้แต่งงานกัน การออกไปจับจิ้งหรีดของคูน การเดินทางไปหาปลา ที่ลำน้ำชี เพื่อนำปลามาทำอาหาร และเก็บถนอม เอาไว้กินนานๆ ด้วยการทำปลาร้า เป็นต้น นอกจากนั้น ยังแทรกความสนุกสนาน เพลิดเพลิน จากการทำบุญ ตามประเพณี ไว้หลายตอน ด้วยเช่นกัน ได้แก่ การจ้างหมอลำหนู ซึ่งเป็นหมอลำ ประจำหมู่บ้าน ลำคู่กับหมอลำฝ่ายหญิง ที่ว่าจ้างมาจากหมู่บ้านอื่น ทั้งกลอนลำ และการแสดงออก ของหมอลำทั้งสอง สร้างความสนุกสนาน ครึกครื้น แก่ผู้ชมที่มาเที่ยวงาน อย่างมาก ลูกอีสาน เป็นการถ่ายทอดเรื่องราว จากประสบการณ์ ด้วยภาษาที่ตรงไปตรงมา และแสดงให้เห็นวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ของชาวอีสานว่า ต้องเผชิญ กับความยากลำบากอย่างไร การเรียนรู้ ที่จะอดทน เพื่อเอาชนะ กับความยากแค้น ตามธรรมชาติ ด้วยความมานะบากบั่น ความเอื้ออารี ที่มีให้กันในหมู่คณะ ความเคารพ ในระบบอาวุโส สิ่งเหล่านี้ ปรากฏอยู่ในแต่ละตอน ของลูกอีสาน รวมทั้ง การแทรกอารมณ์ขัน ลงไปด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น